|
|
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC Foundation) เผยวันที่ 1 ก.พ. 2562 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือ DNS Flag Day ในกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ DNS
และเป็นที่กังวลว่าอินเทอร์เน็ตในวันนั้นอาจเกิดติดขัดจนกระทบการใช้งานได้ ทั้งนี้มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย และภาควิชาวิศกรรมคอมพิวเตอร์
ม.เกษตรศาสตร์ได้ร่วมกันตรวจสอบโดเมนในประเทศไทยทั้งหมดจำนวน 69,938 โดเมน พบว่ามีโดเมนที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่า 10,000 โดเมน
หรือราว 15% ของโดเมน .TH ในประเทศไทย หน่วยงานเหล่านี้ยังคงมีเวลาแก้ไขปัญหาอยู่อีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะถึงเส้นตาย 1 ก.พ. 2562 และผู้บริหารไอทีควรเตรียมการให้ความรู้เจ้าหน้าที่กลุ่ม
Help Desk และ Call Center ไว้ด้วย เพราะเมื่อถึงวันดังกล่าว ผู้ใช้อาจโทรแจ้งปัญหาซึ่งอาจขึ้นเพราะ DNS ของหน่วยงานอื่นที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะส่งผลกระทบตามมาด้วย
|
รศ. สุรศักดิ์ สงวนพงษ์ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
และกรรมการมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (THNIC Foundation) เปิดเผยว่า ระบบชื่อโดเมนหรือ DNS (Domain Name System)
เป็นบริการพื้นฐานที่สำคัญมากในอินเทอร์เน็ต หากไม่มี DNS แล้ว บริการเว็บ อีเมล คลาวด์ ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ก็แทบจะทำงานไม่ได้เลย
|
ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2562 นี้เป็นต้นไป ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ DNS หลักรายใหญ่ เช่น BIND, Knot, NSD, PowerDNS ตกลงที่จะบังคับใช้มาตรการเด็ดขาด
โดยจะถอนรหัสซอฟต์แวร์ที่ใช้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบขัดตาทัพที่ใช้อยู่เดิมออกไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การประกาศว่าซอฟต์แวร์ DNS
ของแต่ละหน่วยงานในอินเทอร์เน็ตจะต้องได้มาตรฐาน EDNS (Extension Mechanism for DNS) ที่ถูกต้องครบถ้วนเท่านั้น
ดังนั้นDNS ของหน่วยงานใดๆที่มี “สุขภาวะ” ไม่ได้มาตรฐานจะเกิดความเสี่ยงที่ผู้ใช้บริการภายนอกจะเข้าใช้เซิร์ฟเวอร์ได้ล่าช้า
ติดขัด หรือเข้าไม่ได้เลย ดังนั้นหน่วยงานจึงควรตรวจสอบ DNS และปรับแก้หากพบปัญหา
|
สรุปเหตุการณ์ที่จะเกิดในวันที่ 1 ก.พ. 2562
|
- ซอฟต์แวร์ DNS หลักคือ BIND, Knot, Unbound, และ PowerDNS จะออกรุ่นปรับปรุง โดยยกเลิกรหัสแก้ไขปัญหา EDNS เฉพาะกิจออกไป
- ผู้ให้บริการ DNS สาธารณะเช่น Google, Quad 9, Cloudflare จะเริ่มให้บริการ DNS ตามมาตรฐาน EDNS
- หน่วยงานซึ่งมี DNS ที่ไม่ได้มาตรฐาน EDNS ผู้ใช้ภายนอกอาจเข้าใช้บริการไม่ได้
- หน่วยงานซึ่งมี DNS ที่ได้มาตรฐาน EDNS แล้ว ผู้ใช้ภายในอาจใช้บริการบางเซิร์ฟเวอร์ข้างนอกไม่ได้ เพราะ DNS ปลายทางไม่ได้มาตรฐาน EDNS
|
รู้จักกับ DNS และความสำคัญ
|
DNS ทำหน้าที่เป็นเสมือนสมุดหน้าเหลืองประจำอินเทอร์เน็ต ช่วยให้ไม่ต้องจดจำไอพีแอดเดรสเครื่องที่ต้องการติดต่อ
เหมือนกับที่เราใช้สมาร์ตโฟนแล้วโทรออกด้วยชื่อโดยไม่ต้องจำเบอร์โทร แต่สำหรับอินเทอร์เน็ตแล้วการจดไอพีแอดเดรสเก็บไว้เองทำได้ยากเพราะมีเครื่องที่อาจต้องใช้บริการมากมาย
และหมายเลขอาจเปลี่ยนได้ตลอด เครือข่ายในอินเทอร์เน็ตจึงต่างมีสมุดหน้าเหลืองประจำตัว แต่ละแห่งจะมี DNS ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามระบบกัน
|
DNS เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นมาแล้วกว่า 35 ปี ผู้พัฒนาได้ขยายความสามารถใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกหลายอย่าง ในปี พ.ศ. 2542
ได้กำหนดให้ส่วนขยายนี้เป็นมาตรฐานเรียกว่า EDNS (Extension Mechanism for DNS)
ตัวอย่างเช่น การใช้คุกกี้เพื่อลดปัญหาการโจมตี การเข้ารหัสยืนยันตัวเซิร์ฟเวอร์ด้วย DNSSEC
หรือการเพิ่มขนาดข้อมูลให้ส่งคราวเดียวได้ใหญ่ขึ้นจากเดิมจำกัดเพียง 512 ไบต์ เป็นต้น
|
ปัจจุบันมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ DNS อยู่หลายราย แต่บางรายไม่ได้ทำให้ซอฟต์แวร์ของตนได้มาตรฐาน EDNS อย่างถูกต้องครบถ้วน
ผู้พัฒนา DNS รายหลักต่างก็ต้องช่วยปรับแก้ความไม่เข้ากันแบบเฉพาะหน้าไปก่อน โดยที่เซิร์ฟเวอร์ DNS
จะมีกลไกวิเคราะห์ปัญหาและพยายามแก้ไขตามสภาพการณ์ให้ลุล่วงแบบอัตโนมัติ ในมุมหนึ่งก็นับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ใช้
แต่ก็กลายเป็นว่า DNS ฝ่ายหนี่งต้องคอยรับภาระแก้ปัญหาให้ DNS อีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่ยอมทำตามกฎกติกา และเกิดความล่าช้าเป็นผลกระทบตามมา
ในที่สุดผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ DNS กลุ่มหลักจึงตกลงกันว่า 1 กุมภาพันธ์ 2562 จะเป็นวัน DNS Flag Day หรือวันยกธงประกาศเจตจำนงให้ทั้งหมดเข้าสู่มาตรฐาน
|
บริการตรวจสอบ EDNS
|
เว็บไซต์ EDNS Compliance (https://ednscomp.isc.org/ednscomp) ให้บริการออนไลน์ตรวจสอบว่า DNS ทำงานได้มตามมาตรฐาน EDNS หรือไม่
โดยป้อนชื่อโดเมนของหน่วยงานที่ต้องการตรวจสอบในช่อง Zone Name
ตัวอย่างเช่น ตรวจโดเมน facebook.com จะพบรายงานว่า DNS ของ facebook ทำงานได้ตามข้อกำหนด (สังเกตรายงาน All Ok)
|
|
แต่เมื่อทดลองป้อนโดเมน mytcas.com จะพบรายงานปัญหาเนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ DNS ทั้งสองตัวที่ดูแลโดเมน
mytcas.com คือ ns1.domain.com และ ns2.domain.com. ยังไม่ได้มาตรฐาน EDNS บางส่วน
|
|
ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยรวมทั้งหน่วยงานที่มีชื่อโดเมนทั้งที่จดทะเบียนภายใต้ .TH และชื่ออื่น ๆ ล้วนอยู่ในข่ายที่ต้องตรวจสอบ DNS ของตนเองเพื่อปรับแก้หากพบปัญหา
|
ปัญหาที่ตรวจพบมักเกิดขึ้นจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ
- ใช้ซอฟต์แวร์รุ่นเก่าหรือปรับตั้งซอฟต์แวร์ไม่ถูกต้อง และ
- ปรับตั้งไฟร์วอลล์ไม่ถูกต้อง
|
หากพบปัญหา ผู้ดูแลระบบมีหน้าที่แก้ไขโดยปรับปรุงซอฟต์แวร์ DNS ให้เป็นรุ่นล่าสุดและปรับตั้งค่าให้ถูกต้องเป็นลำดับแรก
หากยังพบปัญหาอยู่ให้ตรวจสอบและปรับตั้งไฟร์วอลล์เป็นลำดับถัดไป ไฟร์วอลล์ต้องไม่ปิดกั้นบริการ EDNS
และต้องอนุญาตให้ยูดีพีแพ็กเก็ตสำหรับ DNS ซึ่งมีขนาดเกิน 512 ไบต์ผ่านเข้าออกได้
|
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
|
- DNS flag Day, http://dnsflagday.net
- Extension Mechanisms for DNS (EDNS0), https://www.ietf.org/rfc/rfc2671.txt
|
เกี่ยวกับมูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย
|
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย (Thai Network Information Center Foundation หรือ THNIC Foundation)
เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งเน้นการพัฒนาการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการใช้งานโดเมน “.TH” และ “.ไทย”
สนับสนุนการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาเพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต
|
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: ดร. พจนันท์ รัตนไชยพันธ์
มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย ( THNIC Foundation )
159 ถนนพิชัย แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300
photchanan@thnic.or.th
|